top of page

Experience ไอเดียทางรอดฝ่าวิกฤติยุคโควิด : Design After Covid-19 I Ep.03

  • รูปภาพนักเขียน: Kopchai
    Kopchai
  • 9 พ.ค. 2563
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 19 ก.พ.



ต้องยอมรับว่าคนเริ่มเคยชินกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น

โดยเฉพาะของที่รู้อยู่แล้วว่าคืออะไร เป็นอย่างไร

ส่วนของที่ยังไม่เคยสัมผัส ไม่แน่ใจ

ตอนนี้การดูรีวิวสินค้าก็เป็นตัวช่วยให้ตัดสินใจได้ไม่ยาก


แม้ว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังต้องการออกมาซื้อสินค้าที่ร้านค้าอยู่บ้าง

แต่ก็น้อยลง และต้องคิดเยอะขึ้นในการคิดจะไปไหนมาไหน


เราเลยต้องตอบคำถามให้ได้ว่า

ทำไมลูกค้าต้องออกจาบ้านมาที่ร้านของเรา


Image via retaildesignblog.net
Image via retaildesignblog.net

Experience จึงเป็นเรื่องสำคัญของยุคนี้

ประสบการณ์ที่เราอยากจะมอบให้ลูกค้านั้นมีหลายแบบ

เช่น การเข้ามาสัมผัสกับของจริง

หรือเพราะมีของให้เลือกเยอะ หลากหลายแบบ

ได้ทดลองสินค้า ก่อนตัดสินใจซื้อ

มีคนขายที่หล่อที่สวย (ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง)

หรืออะไรก็แล้วแต่จะคิดขึ้นมาได้

ซึ่งผมว่าเราต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกแตกต่างให้ได้

และมองว่าเราเป็นตัวเลือกหนึ่งในการอยากมาใช้บริการ


เพราะหลังจากนี้คำว่า Value for Money เป็นคำที่หลายคนจะต้องนึกถึง

เมื่อจะเลือกใช้บริการใดก็แล้วแต่

ในยุคเศรษฐกิจฝืดแบบนี้ ถ้าเราสร้าง Experience ที่ดีได้

ก็คือการสร้างคุณค่าให้กับบริการของเรานั่นเองครับ

เราคงต้องเลือกประสบการณ์ที่เหมาะสมกับบริการของเราด้วยนะครับ เช่น

คุณค่าของร้านกาแฟ คือการสร้างพื้นที่ที่สามารถนั่งได้สบาย ผ่อนคลาย มีมุมถ่ายภาพที่สวย

สำหรับร้านอาหาร ก็เป็นเรื่องของการมาปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนกับอาหาร

ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง


ไม่ใช่แค่อร่อย ยังต้องอาศัยความสวยงามของการจัดจาน

รวมถึงสิ่งแวดล้อมขณะรับประทานอาหารต้องมาพร้อม

ถ้าคิดว่าอาหารอร่อยอย่างเดียวพอ

ก็ต้องตอบได้ว่าข้าวผัดของคุณนั้นมีดีกว่าอีกยี่สิบเจ้าใน app delivery ยังไง

ทั้งที่เค้าก็ถูกกว่า เพราะไม่ต้องมีต้นทุนหน้าร้าน


แต่จะเดินทางนี้ยังไงก็ต้องไปต่อครับ...

อย่าไปท้อแท้ เลิกไปซะก่อน ไหนๆก็ทำมาแล้ว

 

ตอนนี้คงได้เห็นการแก้ปัญหาของร้านอาหาร

ด้วยการเอาท่อพีวีซีและอะครีลิคใสมากางกั้นที่นั่งรับประทานอาหารในร้าน

แต่อย่างที่บอก แค่ชั่วคราวแก้ขัดมันก็พอได้

ใครจะอยากนั่งกินข้าวกับท่อพีวีซีและอะครีลิค

ผมอยากให้แนวคิดในการเอาการออกแบบมาแก้ปัญหา

เราควรเอาเรื่องราวมาใส่กับดีไซน์เพิ่มเข้าไป

จะได้ดูมีที่มาที่ไป แล้วสิ่งที่เคยเป็นปัญหาจะกลายเป็นจุดเด่นแทน


อย่างเช่น ร้านอิจิรันราเมน ที่ญี่ปุ่น

เป็นร้านบะหมี่ที่ออกแบบให้ที่นั่งเป็นแถว มีคอกกั้น

มีช่องให้นั่งเพียงคนเดียวเรียงแถวกันไป

แต่ก็สามารถเอา partition ออกได้นะ ถ้ามากับเพื่อน


Image via seriesman.com
Image via seriesman.com


การสั่งก็ใช้การติ๊กแบบสอบถาม

ทำให้คนไทยชอบเรียกว่า "ร้านราเมนข้อสอบ"

เพราะว่าคล้ายๆกับการมานั่งทำข้อสอบ

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สนุก สามารถเลือกได้ตามใจ

ไม่ว่าจะเส้นนุ่ม-แข็ง เผ็ดน้อย-มาก ใส่หัวหอมหรือไม่

ไม่มีพนักงานมาค้อนว่าจะเรื่องเยอะอะไรนักหนา


นี่แหละการเอาเรื่องราวมาใส่ในการออกแบบ

ที่ตอบรับกับการจัดร้านให้เข้ากับ Personal Space ที่เคยคุยไปก่อนหน้านี้


เพียงแค่คุณหาเรื่องราวมาใส่กับสิ่งที่คุณจะต้องปรับเปลี่ยน

สร้างประสบการณ์ดึงดูดลูกค้าเพิ่มเติม

และอร่อยด้วยก็จะทำให้ลูกค้ามาซ้ำได้อีกเรื่อยๆ

 

นอกจากการใช้เรื่องราวมาเป็นตัวสร้างประสบการณ์แล้ว

อีกแนวคิดที่น่าสนใจก็คือ "Retailtainment"

ที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ที่พิเศษ และสนุก

ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการซื้อของขึ้นไปอีกระดับ



Image via Bloomberg
Image via Bloomberg

เทคโนโลยีไม่ได้เอามาใช้แค่เพื่อความเท่ แต่ยังช่วยสร้างแรงจูงใจในการซื้อของเพิ่ม

เช่น การใช้แนวคิดเรื่อง Augmented Retail Solution ที่เชื่อมโยงออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน


ร้าน Farfetch ในลอนดอน ทำร้านที่รวมเอาชั้นแขวนเสื้อผ้าของจริง และจอทัชสกรีน

ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองเพื่อดูรายการที่ปักหมุดไว้ รวมถึงประวัติการซื้อต่างๆ

ทำให้มีข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยเลือกสินค้าที่เหมาะกับลูกค้าเรา

แถมยังเป็นตัวช่วยในการนำเสนอสินค้าอื่นๆประกอบเพิ่ม

สั่งซื้อเสร็จสรรพโดยที่ยังไม่ต้องออกจากห้องแต่งตัวได้เลย


หรือเรื่องของการทำร้านให้สร้างประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ของคุณ

เพราะถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างความรู้สึกของแบรนด์เราสู่ลูกค้าให้ได้

อย่างเช่นร้าน Vans สตรีทแบรนด์ที่ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

ตกแต่งร้านที่ลอนดอนในคอนเซพท์ “OFF THE WALL”

ประกอบไปด้วย Ramp ลานสเก็ต เวทีคอนเสิร์ต ลานกิจกรรมต่างๆ

สร้างบรรยากาศวัฒนธรรมความเป็นสตรีท สินค้าก็ไม่ได้จะต้องโชว์อะไรมากมาย

ดูในเนทมาเยอะละ มาก็เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ของแบรนด์ล้วนๆ


Image via Skateparks
Image via Skateparks

ซึ่งสิ่งเหล่านี้การซื้อของออนไลน์ไม่มีทางสร้างความรู้สึกของการซื้อให้กับลูกค้าได้แน่นอน

การได้ออกมาซื้อที่ร้านมันดูเท่และสนุกกว่าอย่างที่เปรียบไม่ได้


ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านที่ใหญ่โตอะไรนะครับ

ทุกร้านมีแบรนด์เป็นของตัวเองได้

แค่เราดูตัวอย่าง แล้วคิดสร้างมันขึ้นมา


ผมเชื่อว่าร้านค้าจะยังไม่ตายแน่นอน แต่ต้องปรับตัว

เพราะจะไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่ยืนหรือเดินรอคลื่นมาซัดหายไป

แต่คนที่วิ่งเท่านั้นจะรอด

เราต้องตั้งหลักอย่างมีสติ

อย่าพุ่งเข้าไปแข่งขันกันบนตลาดออนไลน์กันเพียงอย่างเดียวจนล้น


อย่าลืมว่าเราเป็นมนุษย์....

ก็ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ขายของให้มนุษย์ด้วยกัน

bottom of page